“ผกามาศ” ชี้ การถูกคุกคามเป็นการข่มขู่ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว เดือดร้อนรำคาญ ส่งผลต่อการดําเนินชีวิต พร้อมสนับสนุน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายอย่างแท้จริง

24 กรกฎาคม 2024 22:30

24 กรกฎาคม 2567 นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสุรินทร์ เขต 3 พรรคภูมิใจไทย ในฐานะเป็นกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้สูงวัย ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานผู้เยียวยาผู้ที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน มูลนิธิ ก่อนที่จะเกิดเคสการใช้ความรุนแรงในระหว่างคู่สมรสนั้น มักจะมีพฤติกรรมที่ส่งสัญญาณก่อนเหตุการณ์การทําร้ายร่างกาย คือ การถูกคุกคามทางเพศ ในปัจจุบันแม้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ การกระทําคุกคามทางเพศตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทําการคุกคามทางเพศ หรือ ผู้ถูกกระทําไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่มี บทบัญญัติฐานความผิดฐานคุกคามทางเพศไว้อย่างชัดเจน เพราะการคุกคามเป็นการกระทําที่ไม่เกิดอันตรายแก่ร่างกาย ไม่สัมผัสเนื้อตัว แต่การคุกคาม ข่มขู่ ทําให้ผู้เสียหาย เกิดความหวาดกลัว เดือดร้อน รําคาญ ส่งผลต่อการดําเนินชีวิตตามปกติ และอาจส่งผลต่อจิตใจในระยะยาว จึงนําไปสู่การพิจารณาบทนิยาม และบทลงโทษเกี่ยวกับลักษณะความผิดคุกคามทางเพศเพื่อจะทําให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกระทําให้ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง . นางสาวผกามาศ กล่าวว่า การถูกคุกคามนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย อย่างเช่น กรณีของผู้ถูกคุกคาม อย่างกรณีถูกแอบชอบ ซึ่งคนดังมักจะถูกล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะอาชีพของคนดังส่วนมาก คือ บุคคลสาธารณะ ทําให้คนส่วนมากเข้าใจว่าจะสามารถกระทํา หรือวิจารณ์บุคคลสาธารณะอย่างไรก็ได้ ซึ่งขาดความรับรู้ของประชาชน และการนิยาม คําว่า “ล่วงละเมิดทางเพศ” ไม่ครอบคลุมในตัวกฎหมาย อาจนํา ไปสู่พฤติกรรมการล่วงละเมิด ติดตามไปในพื้นที่ส่วนตัว ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทําให้คนส่วนมากอาจจะไม่เข้าใจระหว่าง บุคคลสาธารณะ และพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ของบุคคลเหล่านั้น เช่น กรณีบุกบ้านดารา นักแสดง การส่งข้อความอย่างไม่ลดละ หรือ การคุกคาม ถึงขั้น Cyber-stalking (การถูกติดตามในโลกไซเบอร์) จนนําไปสู่การสะกดรอยตามไปสถานที่ที่อยู่อาศัย เช่น ในประเทศญี่ปุ่นเคยมีกรณีไอดอลโพสต์ภาพถ่ายลงในโซเชียล และคนร้ายใช้ภาพสะท้อนจากดวงตา ในการตามหาสถานที่ที่อยู่ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์นี้ในประเทศญี่ปุ่น ผู้ถูกกระทําสามารถเอาผิดได้เพราะที่ญี่ปุ่นมีกฎหมาย Cyber-stalking ตั้งแต่ ปี 2017 นอกจากการถูกติดตามเพราะความรักในฝั่งตรงข้าม ก็มีการถูกติดตามเพราะความเกลียดชังเช่นเดียวกัน อย่างกรณีผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน ก็จะมี Hater(ผู้เกลียดชัง) เหล่านั้นมักจะติดตามในโลกอินเตอร์เน็ตตามไปในสถานที่จริงที่เหยื่ออยู่ ซึ่งอาจนําไปสู่สิ่งที่ร้ายแรงกว่า อย่างการลอบสังหาร เป็นต้น . นอกจากนี้ นางสาวผกามาศ ยังได้กล่าวอีกว่า Stalking หรือการคุกคามด้วยการติดตาม เป็นการกระทําเริ่มต้นของอาชญากรรมแบบอื่น การตีความที่ผ่านมาของชั้นศาลจะเน้นการลงโทษที่เหตุของการเสียชีวิตแทนการให้โทษ การ Stalking ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา จึงทําให้เราไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมในส่วนของการถูกคุกคาม ด้วยการติดตามได้ ผู้ถูกกระทําจึงไม่ได้รับสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่แรก เพราะพฤติกรรมของการ Stalker ทั้งในโลกไซเบอร์ และในโลกความเป็นจริง ไทยยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นฐานความผิดอย่างชัดเจน มีหลายเคสที่ผู้กระทําได้ส่งสัญญาณคุกคามให้เหยื่อ เช่น อดีตสามีคอยติดตามความเคลื่อนไหวของอดีตภรรยา จนนําไปสู่การฆ่ากรรม ก่อนเกิดเหตุเหยื่อมักจะถูกขู่ฆ่า ถูกรังควาน ถูกติดตาม ซึ่งเหยื่อทําได้อย่างมากแค่ไปแจ้งความลงบันทึกประจําวันเผื่อเกิดเหตุร้ายในอนาคต การที่ไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน ทําให้ผู้บังคับใช้กฎหมายมักตีความการคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาของครอบครัว เจ้าหน้าที่มักจะไกล่เกลี่ย เนื่องจากการคุกคามไม่มีฐานความผิดโดยตรง ซึ่งผู้กระทําความผิดจะมีโทษเพียงลหุโทษ แค่โดนเรียกมาตักเตือน เสียค่าปรับเล็กน้อย หรือโทษอย่างหนัก อาจมีคําสั่งศาลให้ Stalker อยู่ห่างจากเหยื่อ แต่คําสั่งศาลนั้นจะสามารถคุ้มครองเหยื่อได้ตลอดหรือไม่ เพราะในข้อเท็จจริง ยกตัวอย่าง “ ดิฉันเป็นคน ที่อยู่ต่างจังหวัด ถ้าดิฉัน ได้รับคําสั่งศาลมาแล้วว่า Stalker คนนี้ ห้ามอยู่ใกล้ดิฉันในระยะเท่าไหร่ เป็นจํานวนเท่าไหร่เดือน แต่ในความเป็นจริง ดิฉันอาจจะบังเอิญเจอ Stalker คนนั้น และอาจจะไม่มีหลักฐานมายืนยันของการโดนติดตามได้ เพราะต่างจังหวัด กล้อง CCTV มีน้อยกว่าในเมืองมาก และอีกข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีกําลัง มากพอที่จะตามมาคุ้มครองเราได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าโทษน้อยขนาดนี้ก็ส่งเสริมให้ผู้กระทําผิดสามารถกลับมาทําพฤติกรรมเดิม และกระทําผิดซ้ำได้” . ในเมื่อกฎหมายไม่รองรับการถูกคุกคาม เจ้าหน้าที่จึงได้แต่แนะนําให้เหยื่อแจ้งความเพิ่มเติมทุกครั้งที่เกิดเหตุ เพื่อเพิ่มข้อหาให้หนักขึ้น เช่น ข้อหาบุกรุกยามวิกาล ข้อหาทําให้เสียทรัพย์ ข้อหาทําร้ายร่างกาย ถึงจะเพิ่มบทลงโทษให้ผู้กระทําความผิดได้ “ คนๆ หนึ่ง จะต้องโดนกระทําทั้งทางร่างกาย และ จิตใจสักกี่ครั้ง เขาถึงจะได้รับการ คุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ดิฉันจึงขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญานี้ “ สส.ผกามาศ กล่าวทิ้งท้ายว่า .


แสดงความคิดเห็น